ที่เที่ยว พังงา

ประวัติเมืองพังงา

จังหวัดพังงาเดิมเชื่อวันว่าชื่อ "เมืองภูงา" ตามชื่อเขางาหรือเขาพังงาหรือกราภูงา หรือ พังกา (ภาษามลายู แปลว่า ป่าน้ำภูงา) ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดพังงาปัจจุบัน ในสมัยก่อนเมืองภูงาขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 2 ชื่อของเมืองภูงาได้ปรากฎอยู่ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองขึ้นฝ่ายกรมพระสุรัสวดีฝ่ายซ้าย เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองกับเมืองภูเก็ต และเหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานกันว่าน่าจะเนื่องมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรร์ มีชาวต่างชาติมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และช่าวต่างชาติเหล่านี้คงออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมืองพังงา เพราะแต่เดิมช่าวต่างชาติเขียนชื่อเมืองภูงาว่า Phunga หรือ Punga อ่านว่าภูงา หรือพังงา หรือ พังกา ก็ได้

ชุมชนในอดีต
  ในท้องที่จังหวัดพังงาปัจจุบัน มีชุมชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเมืองมาแล้วถึง 4 เมืองเป็นอย่างน้อย คือ เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองคุระคุรอด (หรือคุระบุรี) ซึ่งปัจจุบันชุมชนเหล่านี้มีฐานะเป็นอำเภอต่างๆ ในจังหวัดพังงา ชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมืองตะกั่วป่า เชื่อกันว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์อำนาจปกครองท้องถิ่นมาตั้งแต่ยุคโบราณที่เริ่มมีการขนถ่ายผู้โดยสารและสินค้าข้ามคาบสมุทรจากตะกั่ววป่า ผ่านเขาสก แม่น้ำหลวง มาออกเมืองไชยาในระยะแรกๆ และชื่อของเมืองตะกั่วป่าในระยะนี้เรียกว่าเมือง “ตะโกลา” ที่ตั้งของตัวเมืองอยู่ที่บ้านทุ่งตึก หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี ไม่ใช่ที่ตะกั่วป่าปัจจุบัน
  สำหรับเมืองพังงา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และคุระบุรี ทีมีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบันเป็นชุมชนที่เกิดจากการขยายตัวของการผลิตและค้าแร่ดีบุกในสมัยอยุธยา ชุมชนเหล่านี้มีฐานะเป็นเมืองขนาดเล็กขึ้นกับเมืองถลาง และอยู่ในความดูแลของหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราช หรือไม่ก็ส่งขุนนางผู้ใหญ่จากเมืองหลวงออกไปปกครองโดยตรง เช่น ระหว่างปี พ.ศ. 2319 – 2352 จนกระทั่งพม่าเผาทำลายเมืองถลางและเมืองขึ้นเสียหายอย่างหนักในปี พ.ศ.2352 จึงมีการรวบรวมผู้คนขึ้นใหม่ที่เมืองพังงา จากจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองพังงา ตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่งยุคใหม่

 ก่อนปี พ.ศ.2352 เมืองพังงามีฐานะเป็นเพียงแขวงขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “กราภูงา” หรือบ้านปากน้ำพังงาเป็นทางผ่านจากถลาง ตะกั่วทุ่ง กราภูงา ข้ามเขานางหงส์ไปออกปากลาว ปากพนม แม่น้ำหลวง และเมืองไชยา ในพงศาวดารเมืองถลางกล่าวถึงอาณาบริเวณที่เป็นเมืองพังงาไว้ว่า “เมืองพังงานี้เดิมเป็นเมืองช่องแขวงพื้นเมืองตะกั่วป่า เอาคลอง ถ้ำ แม่น้ำ เป็นแดนคนละฟาก ฝ่ายเหนือน้ำตลอดเข้าป่าดง ใต้น้ำลงไฟฝ่ายลำคลองถ้ำข้าบูรพ์ ได้กับเมืองพังงา ลำคลองตลอดจนไปถังพระอาดเถ้า เกาะยาง เกาะพิงกัน เป็นแขวงเมืองพังงา...ฝ่ายอุดรเมืองพังงา เขาเขมาเหล็กเป็นแดนเฉียงอิสาน ก็ราสูง สองแรกเป็นเขตแดนเมืองพังงา”

        หลังจากพม่าเผาทำลายเมืองถลาง ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ในปี พ.ศ.2352 บ้านเมืองเสียหายอย่างหนัก ชาวเมืองแตกตื่นหลบหนีพม่าไปอาศัยอยู่ในป่าดง และเมืองต่างๆ จึงไม่สามารถจัดตั้งเมืองถลางในเกาะภูเก็ตได้ ต้องใช้วิธีรวบรวมผู้คนที่เมืองพังงาก่อน ในปี พ.ศ.2354 พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ผู้กำกับราชการกรมพระสมุหกลาโหม ได้อาสาต่อทางราชธานีที่จะเป็นผู้จัดตั้งเมืองถลางขึ้นใหม่ ซึ่งหวังที่จะได้ผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ในเกาะภูเก็ต แต่เนื่องจาก “เมืองถลางยับเยินมาก ถึงจะจัดแจงตั้งได้แต่ใน 2 หรือ4 ปี ก็ยังหาเต็มภาคภูมิเหมือนแต่ก่อนไม่” จึงทำให้ทาฝ่ายรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งในที่สุดก็ตัดสินใจให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นแต่เพียงผู้ดูแลหัวเมืองถลางและเมืองขึ้นอื่นๆ ส่วนภารกิจในการจัดตั้งเมืองถลางที่พังงานั้นได้มอบให้พระวิเชียรภักดี (เจิม) อดีตยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่งเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง โดยแต่งตั้งให้พระวิเชียรภักดี (เจิม) เป็นผู้ว่าราชการเมืองถลางที่พังงาในปีเดียวกัน

การก่อตั้งเมือง

        การจัดตั้งเมืองถลางที่พังงาครั้งนั้นต้องพบกับปัญหาต่างๆ หลายประการ  เป็นต้นว่า  ปัญหาขาดแคลนข้าวบริโภค  ต้องพึ่งจากเมืองไทรบุรีและกรุงเทพฯ ปัญหาการคุกคามจากพม่าซึ่งยังส่งเรือรบและกองกำลังย่อยๆ ออกมาจับผู้คนที่ตะกั่วป่าและกะเปอร์ไปสืบข่าวคราวอยู่บ่อย ๆ และปัญหาเกี่ยวกับราษฎรและกรมการเมืองที่ตั้งไว้แล้วไม่ยอมไปอยู่ประจำที่เมืองพังงา  เพราะยังเป็นเมืองที่ทุรกันดารและห่างไกลสุดหล้าฟ้าเขียวอยู่ทางฝ่ายรัฐบาลกลาง  ต้องมีสารตราออกมาบังคับบัญชาให้เจ้าเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ “ขับต้อนพระหลวง  กรมการและราษฎรขึ้นไป ณ ที่กราภูงา  ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยพระถลาง” ทุกเมืองและเมืองละหลายๆ ครั้ง  โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราชถึงแม้ไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้งโดยตรง  แต่ต้องรับภาระเป็นพี่เลี้ยงดูแลความปลอดภัยของเมืองถลางที่พังงาอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะตั้งตัวได้  ซึ่งก็เสียเวลานานหลายปี  และจากความดีความชอบที่อุตส่าห์ตั้งเมืองถลางครั้งนั้น  ในปี พ.ศ.2356  ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระวิเชียรภักดี (เจิม) เจ้าเมืองถลางขึ้นเป็นพระยาณรรงค์เรืองฤทธิ์ปะสิทธิสงคราม (เจิม) ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในสารตราของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาสมุหพระกลาโหม  ที่มีไปถึงพระปลัดและกรมการเมืองถลาง ในปี พ.ศ.2356  ตอนหนึ่งว่า “แลซึ่งพระวิเชียรภักดี (เจิม) มีน้ำในอุตสาหะตกแต่งให้ไพร่พลเมืองขึ้นไปตั้งอยู่ ณ ที่กราภูงา  เป็นภาคภูมิลงได้ดังนี้  พระวิเชียรภักดีมีความชอบ  ทรงพระกรุณาให้เลื่อนพระวิเชียรภักดี  เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม) พระยาถลาง  พระราชทานสัปทนสักกะหลาดแดงคันหนึ่ง  เสื้อมังกรสีตัวหนึ่ง  ผ้าปูม ผืนหนึ่ง  กระบี่บั้งทองเล่มหนึ่งให้แก่พระยาถลาง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์-ปัจจุบัน

       อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2383 เป็นต้นมา เมืองพังงาค่อยๆ ขยายตัวเจริญขึ้นตามลำดับ จาการสนับสนุนส่งเสริมโดยตรงจากรัฐบาลกลาง ดังจะเห็นได้จากตอนที่ถอนพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) มาเป็นเจ้าเมืองพังงา ก็โปรดเกล้าฯ ให้ถอน “ผู้คนแขกเก่าที่ไว้ในสนิท เคยรับใช้สอยอยู่กับ พระยาไทร (แสง) นั้น ก็จัดแจงให้พระยาไทรมาบ้าง จะได้เป็นกำลังราชการมากขึ้นข้างเมืองพังงา ถ้ามันเป้ฯคนผิดและไว้ใจมิได้ก็ผ่อนเอาเข้ามาเสีย ให้มีกำลังเมืองไทยอยู่แต่น้อย และกำปั่นเรือรบ เรือไล่ ปืนใหญ่ ปืนน้อย เครื่องศาสตราวุธ ของพระยาไทรมีอยู่เท่าไร ก็ผ่อนจัดแจงให้พระยาไทรมา เสียให้สิ้น” นอกจากนี้ยังมอบอำนาจให้แก่พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา และหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกตอนบนหลายเมือง มีศักดินาสูงถึง 10,000 ในฐานะเจ้าเมืองโท ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของเมืองพังงาไม่ได้เกิดขึ้นจากท้องที่ตัวเมืองแต่ขึ้นกับเมืองขึ้นมากกว่า กล่าวคือ บริเวณที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุกจริงๆ นั้น อยู่ที่เมืองถลาง ภูเก็ต และตะกั่วป่ามากกว่าที่พังงา ดังนั้นเมื่อแยกเมืองเหล่านั้นออกไปในปี พ.ศ.2404 ฐานะของเมืองพังงาจึงลดเป็นเมืองตรี เจ้าเมืองมีศักดินาลดลงเหลือเพียงราว 5,000 เท่านั้น ความมั่งคั่งของบ้านเมืองและเจ้าเมืองคงลดลงไปด้วย ดังจะเห็นได้จากในสมัยรับกาลที่ 4 เมืองพังงาเคยรับประมูลทำภาษีปีละ 26,960 บาท เท่ากับเมืองตะกั่วป่าและมากกว่าเมืองภูเก็ต แต่ครั้นถึงปี พ.ศ.2415 เงินภาษีเมืองภูเก็ตสูงขึ้นถึงปีละ 336,000 บาท แต่เมืองพังงากลับสูงขึ้นเล็กน้อย คือรวมปีละ 29,920 บาทเท่านั้น และได้โอนภาษีเมืองตะกั่วทุ่งไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าในปีเดียวกันด้วย

Visitors: 854,340