โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

โรคข้ออักเสบเรื้อรังเป็นกลุ่มโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดความพิการได้ และในบรรดาโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่มีอยู่หลาย ๆ โรค มีอยู่กลุ่มโรคหนึ่งที่มีคนหนุ่มคนสาวจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ นั่นคือ กลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า กลุ่มโรค “Spondyloarthropathy”

ความสำคัญของโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

  • ตามสถิติแล้วมีคนที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบในกลุ่มโรคนี้รวม ๆ กันประมาณร้อยละ 1 – 2 ของประชากร นั่นหมายความว่า ในประเทศไทยมีคนที่ป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ประมาณร่วมล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อย
  • โรคนี้มักเกิดขึ้นกับคนหนุ่มคนสาวในช่วงวัยรุ่น  วัยเรียน  ถึงช่วงเริ่มทำงาน  ซึ่งคนเหล่านี้กำลังจะเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองในอนาคต  ทำให้ประเทศชาติต้องเสียกำลังคนที่สำคัญไปกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง
  • โรคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการแสดงไม่เด่นชัดนัก ทำให้แพทย์ส่วนมากไม่ได้นึกถึงหรือไม่คุ้นเคย  ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลุ่มนี้จึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ  ทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องล่าช้าไปจนบางรายได้รับความเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานเป็นระยะเวลานานหรือจนถึงขึ้นเกิดความพิการ
  • ความรุนแรงของโรคกลุ่มนี้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย  บางรายเป็นไม่รุนแรง  บางรายเป็นรุนแรง  แพทย์ที่ทำการรักษาจึงต้องมีประสบการณ์ในการรักษาพอสมควรเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายและติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง  ประกอบกับโรคข้ออักเสบเรื้อรังต้องมีการติดตามและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แพทย์ที่ให้การรักษาจึงควรเป็นแพทย์เฉพาะทางในการรักษาโรคข้อ เช่น แพทย์ในสาขารูมาโตโลจิส เป็นต้น

รู้จักกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

การเรียกโรคกลุ่มนี้ ซึ่งประกอบด้วยโรคหลายโรคที่มีข้ออักเสบเรื้อรังว่า โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ เนื่องจากเกือบทุกโรคในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ มีข้ออักเสบของข้อบริเวณแขนขา ซึ่งส่วนมากจะเป็นข้อบริเวณขา เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า มีอาการปวดบวมของข้อร่วมกับการอักเสบของข้อบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการปวดหลัง แต่บางรายก็ไม่ปวด โรคในกลุ่มนี้ที่พบมากมีหลายโรค โดยจัดเป็นโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบที่ยังแยกไม่ออก เช่น

  • โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing Spondylitis) จะมีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก แต่ก็มีข้อของขาหรือแขนอักเสบร่วมด้วยได้
  • โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) จะเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน (Psoriasis) 
  • โรคข้ออักเสบรีแอ็กทีฟ (Reactive Arthritis) ที่เกิดมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ หลังจากมีการติดเชื้อ
  • โรคข้ออักเสบที่เกิดร่วมกับลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease) ซึ่งพบไม่บ่อยนักในบ้านเรา ถ้าลักษณะของโรคไม่เข้ากับโรคต่าง ๆ

 

อาการโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

ผู้ป่วยที่มีโอกาสเป็นโรคในกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบสามารถสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้

  • ปวดบวมข้อ มักจะเป็นข้อเข่าหรือข้อเท้า เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานาน มักจะเป็นข้อที่ไม่เกิดพร้อมกัน 2 ข้าง เช่น บวมข้อเข่าซ้ายแล้วมาปวดบวมข้อเท้าขวา บางรายมีข้อบวมมาก มีน้ำในข้อปริมาณมากได้ เนื่องจากการอักเสบ
  • ปวดหลัง มักจะปวดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง ๆ แต่ถ้าเป็นมากอาจจะลุกลามขึ้นมาถึงกระดูกสันหลังส่วนบนหรือคอ เมื่อเป็นนาน ๆ จะทำให้หลังแข็งหรือคอแข็งจะก้มตัวหรือขยับหันศีรษะได้ลำบาก
  • เส้นเอ็นอักเสบ มีอาการปวดบริเวณเส้นเอ็นของขาหรือเท้า เช่น เจ็บเอ็นร้อยหวายบริเวณส้นเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง จะเจ็บมากขึ้นเวลาเดินหรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เวลาเดินจะเจ็บบริเวณส้นเท้า เวลาตื่นนอนตอนเช้าลุกจากที่นอนลงมายืนจะเจ็บฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้ามาก แต่พอก้าวเดินไปเดินมากลับปวดน้อยลง
  • ปวดหลังหรือปวดตามข้อ เวลาอยู่นิ่ง ๆ หรือนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ  พอเริ่มขยับจะปวด แต่พอขยับตัวไปแล้วจะปวดน้อยลง เวลาตื่นนอนตอนเช้ามีปวดข้อ ข้อฝืดแข็ง ขยับลำบาก แต่ถ้าขยับตัวไปมาเรื่อย ๆ จะไม่ค่อยปวด
  • ตาแดง ตาอักเสบ อาจมีร่วมด้วยได้
  • ทางเดินปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ อาจมีร่วมด้วยได้
  • นิ้วมือหรือนิ้วเท้าปวดบวมอักเสบ ทั้งนิ้ว 1 – 2 นิ้ว  ทำให้นิ้วบวมโตคล้ายไส้กรอก

วินิจฉัยโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

หากมีอายุตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยทำงานจนอายุประมาณ 40 ปี ทั้งชายและหญิงแล้วมีอาการดังที่กล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 – 2 เดือนแล้วไปรับการรักษา กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคกลุ่มนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ผู้ชำนาญการโรคข้อ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะตรวจข้อและข้อกระดูกสันหลัง ถ้าสงสัยจะทำการถ่ายภาพรังสี (X – Ray) บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง แม้บางครั้งไม่มีอาการปวดหลังก็อาจเป็นได้ การวินิจฉัยโรคกลุ่มนี้อาศัยการดูภาพถ่ายรังสีว่ามีความผิดปกติที่เข้าได้กับโรคกลุ่มนี้หรือไม่

นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือดเพื่อแยกโรคข้ออื่นที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี นอกจากนี้ยังอาจตรวจดูลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคนี้ที่เรียกการตรวจ HLA-B27  ซึ่งถ้าให้ผลบวกก็หมายความว่า มีโอกาสเป็นโรคกลุ่มนี้สูง ในขณะเดียวกันหากมีบุตร บุตรอาจได้รับถ่ายทอดพันธุกรรม มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน และเนื่องจากโรคกลุ่มนี้ไม่มีการตรวจเลือดที่ระบุได้แน่ชัด การรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญโรคข้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สาเหตุโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการศึกษาพอจะระบุได้ว่า โรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคได้ เช่น มีพันธุกรรมชนิดที่เรียก HLA – B27 ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยายของผู้ป่วย แต่พ่อแม่ของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้ และการมีพันธุกรรมชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคนี้เสมอไป ต้องมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรค ซึ่งปัจจัยที่มากระตุ้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ทำให้มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือแม้กระทั่งหลอดลมอักเสบ การติดเชื้อนี้ไม่เรื้อรัง เมื่อได้รับการรักษาก็หาย แต่การติดเชื้อครั้งนั้นดูเหมือนไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเปลี่ยนไป  คล้ายกับข้อหรือเส้นเอ็นของผู้ป่วยเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังกับข้อและเส้นเอ็นของผู้ป่วยจนเกิดเป็นโรคขึ้น และมีอาการต่าง ๆ เหตุที่เกิดโรคนี้ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว เพราะเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราแข็งแรงที่สุด ดังนั้นการเกิดการอักเสบจากภูมิคุ้มกันก็รุนแรงที่สุดเช่นเดียวกัน

 

รักษาโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

เนื่องจากผู้ป่วยโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบมีอาการปวดบวมข้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ อาการปวดนี้บางรายไม่รุนแรง แต่บางรายก็ปวดรุนแรงมาก และปวดเรื้อรังเป็นเวลานานจนได้รับความทุกข์ทรมาน ดังนั้นการรักษาที่สำคัญคือ การได้รับยาต้านการอักเสบ ซึ่งส่วนมากเป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยา Indomethacin และอาจต้องใช้ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากเป็นคนอายุน้อย ดังนั้นผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ต่อผู้ป่วยอาจไม่มากนัก แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

ต่อมาเนื่องจากโรคกลุ่มนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันจึงต้องมียาที่จะปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนตัวโรค เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) หรือยาเมโธรเทรกเซต (Methotrexate) ซึ่งต้องให้ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลานานเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อยาปรับเปลี่ยนตัวโรคไม่ดีนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบจึงมีการนำยาในกลุ่มยาชีวภาพ (Biologic Agent) มาใช้รักษาโรคกลุ่มนี้โดยเฉพาะโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing Spondylitis) และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินอย่างได้ผล เช่น ยากลุ่มยาต้านสาร Tumor Necrotic Factor – TNF (Anti – TNF) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านสารจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ยากลุ่มนี้ถึงแม้ประสิทธิภาพสูงมากและออกฤทธิ์เร็ว แต่เนื่องจากมีราคาสูงจึงไม่แพร่หลายนัก

อีกวิธีการรักษาโรคกลุ่มนี้ที่สำคัญมากคือ การทำกายภาพบำบัด โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เช่น การว่ายน้ำ การบริหารกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังและข้อกระดูกสันหลัง ป้องกันไม่ให้ข้อติดยึดและพิการ การทำกายภาพบำบัดควรทำอย่างสม่ำเสมอและทำควบคู่กับการรักษาด้วยยาตลอดการรักษา จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นและอาจใช้ยาน้อยลง หรือสามารถหยุดยาได้เร็ว สำหรับผู้ป่วยที่มีความพิการเกิดขึ้นอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกหรือผ่าตัดแก้ไขความพิการของกระดูกสันหลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ เราอาจจะต้องทานวิตามินช่วยหรือหาตัวช่วยดีๆ ทาน เพื่อช่วยให้อาการปวดข้อ สันหลังอักเสบดีขึ้นได้
หากท่านสนใจเรามีตัวช่วยดี ๆ แนะนำ ท่านสามารถเข้ามาดูได้ที่ 

  



https://www.smilethailandtour.com/product/672841

 

วิตามินดีต่อสุขภาพ

    ไม่พบสินค้าในหมวดหมู่นี้

Visitors: 867,833